ระบบนำชมห้องสมุดเสมือนจริง JFK360 Virtual Library Tour

ระบบนำชมห้องสมุดเสมือนจริง JFK360 Virtual Library Tour

jfk360

ID 321

เสนอโดย กิตติศักดิ์ แก้วเนียม
ตำแหน่ง นักวิชาการคอมพิวเตอร์
ฝ่าย หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้
ปีงบประมาณ
วันที่เผยแพร่

รายละเอียด Idea Suggestion

สภาพปัจจุบัน/ปัญหาที่พบ

หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำการพัฒนาระบบJFK360 Virtual Library Tour ขึ้น สำหรับให้บริการผู้ใช้ได้สามารถเยี่ยมชมจุดบริการต่าง ๆ ของหอสมุดฯ ในรูปแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ ที่ผู้ใช้จะรู้สึกเหมือนว่าได้อยู่ในหอสมุดฯ จริง ๆ โดยเป็นการนำเอาเทคนิคการสร้างภาพพาโนรามา (Panorama Image) ซึ่งมีลักษณะเป็นภาพทรงกระบอกและทรงกลม 360 องศา เข้ามาใช้เพื่อนำเสนอสิ่งแวดล้อมเสมือนขึ้น แทนการจำลองด้วยโมเดล 3 มิติ ที่ทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายในการผลิต โดยในการสร้างภาพพาโนรามานั้น ผู้พัฒนาได้ทำการถ่ายภาพด้วยกล้องปกติ แล้วนำภาพที่ได้มาต่อประสานเข้าด้วยกันด้วยโปรแกรม Hugin 2015.0.0 ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์สที่มีความสามารถในการประสานภาพอัตโนมัติและได้ผลลัพธ์ที่สวยงาม จากนั้นนำภาพพาโนรามาที่ได้มาสร้างระบบนำชมเสมือนจริงด้วยโปรแกรม Easypano Tourwaver 7.96 Professionnal Edition ที่ช่วยให้เราสร้างระบบปฏิสัมพันธ์กับภาพได้อย่างอิสระ เช่นการสร้างระบบนำทาง การเปลี่ยนมุมมองรับชมภาพด้วยการแพนหรือซูม ตลอดจนการสร้างการเชื่อมโยงไปยังภาพอื่น ๆ หรือเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ภายนอก

JFK360 Virtual Library Tour ถือเป็นอีกสื่อประชาสัมพันธ์หนึ่งที่ผู้พัฒนาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพิ่มปริมาณการใช้ทรัพยากรสารสนเทศ และก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ใช้บริการ ช่วยให้ผู้ใช้บริการที่ไม่เคยเข้ามาใช้บริการที่หอสมุดฯ หรือผู้ที่อยู่ห่างไกลทราบถึงพื้นที่ให้บริการและมองเห็นสภาพแวดล้อมภายในหอสมุดฯ เสมือนการได้เดินเข้ามาใช้บริการด้วยตนเอง

แนวคิดในการสร้างสรรค์หรือแก้ไขปรับปรุง

ภาพพาโนรามาที่นำมาใช้ในระบบนำชมห้องสมุดเสมือนจริง มาจากการถ่ายภาพในแนวนอนทีละช็อต จน ครบรอบจุดหมุนหรือจุดที่ยืนถ่าย โดยการแบ่ง 1 รอบจุดหมุนออกเป็น 4 ส่วน ๆ ละ 90 องศา แล้วทำการถ่ายภาพจำนวน 3 ช็อตต่อ 1 ส่วน ต่อเนื่องกันไปจนครบทั้ง 4 ส่วน จะได้ภาพรวมทั้งสิ้น 12 ภาพ โดยการถ่ายภาพแต่ละช็อตนั้นควรต้องให้ขอบภาพมีความเหลื่อมล้ำหรือ Overlap กันประมาณ 20% เพื่อความง่ายในการหาจุดเชื่อมต่อภาพนั่นเอง
เมื่อได้ภาพประจำจุดครบทั้ง 12 ภาพ ก็จะนำภาพทั้งหมดมาทำการต่อประสานเข้าด้วยกันเป็นภาพพาโนรามาภาพเดียวด้วยโปรแกรม Hugin 2015.0.0 ซึ่งเป็นโปรแกรมโอเพนซอร์สที่มีความสามารถในการประสานภาพให้โดยอัตโนมัติ พร้อมการปรับเกลี่ยโทนสีของภาพแต่ละช็อตให้มีความใกล้เคียงกัน ดังรูป

111.jpg

  ภาพที่ 1 แสดงหน้าจอโปรแกรม Hugin 2015.0.0 ที่ใช้ในการต่อประสานภาพเข้าด้วยกัน

การสร้างระบบนำชมเสมือนจริง

โปรแกรมประยุกต์ที่นำมาใช้สร้างระบบนำชมเสมือนจริงมีชื่อว่า Easypano Tourwaver 7.96 Professionnal Edition ซึ่งมีความสามารถในการสร้างการโต้ตอบหรือระบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ระหว่างผู้รับชมกับภาพพาโนรามาได้อย่างอิสระ เช่น การสร้างระบบนำทางด้วยเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ การควบคุมภาพเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองในการรับชม การสร้างจุดเชื่อมโยง (Hotspot) สำหรับเชื่อมโยงไปยังภาพอื่น ๆ หรือเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ภายนอก หรือแม้แต่การแทรกสื่อมัลติมีเดียอย่างเช่นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียงเข้าไปในตัวระบบเพื่อการให้ข้อมูลหรือเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น
โปรแกรม Easypano Tourweaver สามารถดาว์นโหลดได้ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิต โดยสามารถทดลองใช้งานได้ฟรีภายในระยะเวลา 30 วัน หากสนใจสามารถซื้อใบอนุญาตในการใช้ซอฟต์แวร์ (License) ลิขสิทธิ์ถูกต้องผ่านหลากหลายช่องทางทั้งหน้าเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายภายในประเทศ

2222.jpg

ภาพที่ 2 แสดงหน้าจอโปรแกรม Easypano Tourwaver 7.96 Professionnal Edition

การพัฒนาเว็บไซต์และประชาสัมพันธ์

ขั้นตอนสุดท้ายคือการพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อจัดเก็บและแสดงระบบนำชมห้องสมุดเสมือนจริงที่ถูกแบ่งแยกตามชั้นของอาคารสำนักวิทยบริการและอาคารจอห์น เอฟ เคนเนดี้ พร้อมทั้งเพิ่มแผนผังที่อธิบายถึงจุดสำคัญต่าง ๆ ในแต่ละชั้น จากนั้นทำการประชาสัมพันธ์ตัวเว็บไซต์ระบบนำชมห้องสมุดเสมือนจริงในชื่อ JFK360 Virtual Library Tour แก่ผู้ใช้บริการของหอสมุดฯ ในช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์หอสมุดฯ อีเมล สื่อสังคมออนไลน์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ ป้ายประชาสัมพันธ์ดิจิทัล และโปสเตอร์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
  1. ได้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วยสื่อสารสนเทศที่น่าสนใจ
  1. ได้แนะนำพื้นที่การให้บริการของหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ ให้รู้จักพื้นที่บริการต่างๆ ก่อนเข้าใช้บริการจริง
การนำ Idea Suggestion สู่การปฏิบัติ สามารถดำเนินการได้โดยบุคคลเดียว